ดาวน์โหลดบทความ ดาวน์โหลดบทความ

เวลาจะเริ่มเขียนเรื่องตัวเองทีไรมันรู้สึกเขินพิลึก แต่ไม่ว่าจะเป็น cover letter เรียงความเกี่ยวกับตัวเอง หรือประวัติย่อๆ ก็มีทริคและทิปเด็ดๆ ที่ทำให้เขียนง่ายไม่น่าอาย แถมยังมีสไตล์ส่วนตัว เรามีหลักง่ายๆ มาเล่าสู่กันฟัง แบบที่อ่านจบแล้วจะเขียนดีเขียนเด่นกันเลยทีเดียว

วิธีการ 1
วิธีการ 1 ของ 4:

หลักง่ายๆ เมื่อเริ่มเขียนประวัติตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรารู้ว่าเลือกยาก ก็มันมีเรื่องอยากเล่าเต็มไปหมดนี่นา อย่าลืมว่าต้องบีบอัดประสบการณ์ที่เจอมาทั้งชีวิตลง 1 ไม่เกิน 2 ย่อหน้า นี่ยังไม่รวมความสามารถพิเศษและทักษะต่างๆ เลยนะ ไม่ว่าคุณกำลังจะเขียนแบบไหน เขียนไปเพื่ออะไร ให้คิดง่ายๆ ว่าคุณกำลังเล่าเรื่องตัวเองให้คนแปลกหน้าฟัง[1] อยากให้เขารู้อะไรบ้างล่ะ? ลองตอบคำถามข้างล่างนี่ดู
    • คุณเป็นใคร?
    • มีพื้นเพภูมิหลังยังไง?
    • สนใจอะไรเป็นพิเศษ?
    • ความสามารถเด่นๆ มีอะไรบ้าง?
    • อะไรที่คุณเคยทำแล้วภูมิใจจนอยากเล่า?
    • เรื่องท้าทายอะไรที่เคยประสบพบเจอ?[2]
  2. ให้ลองไล่ความสามารถพิเศษและความสนใจต่างๆ ของคุณออกมา. ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงไหนดี หรือเขาบังคับเลือกแค่อย่างเดียว ให้ลองเขียนออกมาทั้งหมดก่อน[3] ระดมสมองเค้นออกมาให้ได้มากที่สุด พวกรายละเอียดดีๆ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจได้น่ะ. ลองตอบคำถามข้างบนดูก็ได้ แล้วจดคำตอบไว้หลายๆ แบบค่อยมาเลือกทีหลัง[4]
  3. เลือกมาหนึ่งหัวข้อแบบเฉพาะเจาะจง ใส่รายละเอียด แล้วเอาข้อมูลที่ได้ไปใช้เล่าเรื่องตัวเอง แนะนำให้เลือกแค่เรื่องเดียวเท่านั้นแล้วค่อยมาเล่าแบบแตกรายละเอียด ดีกว่าร่ายหัวข้อใหญ่ๆ กว้างๆ มาเต็มไปหมด[5]
    • อะไรที่น่าสนใจและทำให้คุณแตกต่าง? ข้อมูลไหนที่อธิบายความเป็นคุณได้ดีที่สุด? เลือกเรื่องนั้นเลย
  4. พอมีหัวข้อแบบเฉพาะเจาะจงแล้ว ต้องใส่รายละเอียดให้เห็นภาพ เล่าเฉพาะอะไรที่โดดเด่นจดจำได้ง่าย อย่าลืมว่าจุดประสงค์คือให้คนอื่นทำความรู้จักกับคุณ ยิ่งใส่รายละเอียดแบบเฉพาะเจาะจงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นผลเท่านั้น
    • ตัวอย่างดับๆ: ผมชอบกีฬา
    • ตัวอย่างดีๆ: ผมเป็นแฟนฟุตบอล วอลเลย์บอล เทนนิส และแบดมินตัน
    • ตัวอย่างเด่นๆ: กีฬาโปรดของผมคือฟุตบอล ทั้งชอบดูและชอบเล่นเลย
    • ตัวอย่างโดนๆ: ตั้งแต่เด็กๆ ผมคอยติดตามดูถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลพร้อมพ่อและพี่ชายมาตลอด พอวันหยุดเราสามคนจะออกไปเตะบอลด้วยกัน ผมก็เลยหลงรักฟุตบอลตั้งแต่นั้นมา
  5. ถึงคุณจะภูมิใจแค่ไหนที่ตัวเองทั้งประสบความสำเร็จ ความสามารถล้นตัว และเจ๋งแบบสุดๆ แต่ก็ควรเขียนออกมาให้ดูถ่อมตัวหน่อย อย่าเขียนเพื่ออวดอ้าง ให้ไล่รายละเอียดเรื่องที่คุณทำแล้วประสบความสำเร็จออกมา แต่ใช้ภาษาให้น่าฟัง
    • เขียนแบบโม้ๆ: ดิฉันเป็นพนักงานที่มีความสามารถมากที่สุดและนำเสนอแนวคิดใหม่ๆ ให้ทางบริษัทอยู่ตลอด หากคุณรับดิฉันเข้าทำงานรับรองว่าต้องไม่ผิดหวัง
    • เขียนแบบมีดี: ดิฉันได้รับโอกาสให้เป็นพนักงานดีเด่นประจำเดือนของบริษัทติดต่อกันมาสามสมัย จึงภูมิใจและตั้งใจทำหน้าที่ของตนอย่างดีที่สุดมาโดยตลอด
    โฆษณา
วิธีการ 2
วิธีการ 2 ของ 4:

เขียนเรียงความเกี่ยวกับตัวเองส่งครู

ดาวน์โหลดบทความ
  1. เรียงความเกี่ยวกับตัวเองมักเขียนเพื่อใช้สอบตรงเข้ามหาวิทยาลัยหรือส่งครูเพื่อเป็นคะแนน จะไม่เหมือนกับ cover letter ตรงที่ cover letter นั้นมุ่งเน้นแนะนำให้บริษัทรู้จักกับผู้สมัครงาน แต่ถ้าเป็นเรียงความแบบไม่ใช่เรื่องแต่ง จะมีจุดประสงค์เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาหัดเขียนเรื่องตามหัวข้อที่กำหนด ตามปกติการบ้านประเภทนี้จะเน้นให้คุณเล่าเรื่องของตัวเอง โดยลงรายละเอียดแบบเจาะลึก ใส่ประสบการณ์จริงลงไปด้วย แล้วแต่ว่าธีมและแนวคิดของเรียงความนั้นคืออะไร[6]
    • ธีมหรือหัวข้อที่มักพบในเรียงความเกี่ยวกับตัวเองก็คือ การเอาชนะอุปสรรคต่างๆ เรื่องที่ประสบความสำเร็จ หรือข้อผิดพลาดที่เป็นจุดเปลี่ยน และเหตุการณ์ที่ทำให้ได้รู้จักตัวเองดีขึ้น เป็นต้น
  2. [7] เรียงความไม่เหมือน cover letter ตรงที่ไม่ควรโดดไปมาระหว่างธีมหรือเหตุการณ์ต่างๆ ที่คุณอยากเล่าเพราะฟังแล้วดูดี๊ดี แต่ควรจะเน้นหนักที่เหตุการณ์หรือธีมเดียวที่สื่อความคิดคุณได้ชัดเจนที่สุด
    • บางการบ้านคุณอาจต้องเชื่อมโยงเรื่องราวของตัวเองกับหนังสือหรือธีมที่กำหนด ให้เริ่มจากการระดมสมอง ไล่หัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดนั้นออกมาก่อน เพื่อหาทางเลือกที่จะเหมาะกับคุณที่สุด
  3. เขียนให้ละเอียดลึกซึ้ง ไม่เอาเรื่องที่ฟังดูดีแต่มีถมไป.[8] เรียงความไม่ใช่ต้องเขียนแต่เรื่องที่ทำให้คุณดูเป็นพ่อพระแม่พระ เวลาคิดหาหัวข้อที่จะเขียน จะเน้นเรื่องชัยชนะและความสำเร็จของคุณก็ได้ แต่ก็ต้องพูดถึงเรื่องอื่นที่ยังพัฒนาไปได้อีกของคุณด้วย อย่างเรื่องที่ว่าคุณปาร์ตี้เพลินจนลืมไปรับน้องที่โรงเรียน หรือเรื่องที่คุณโดดเรียนแล้วถูกครูจับได้อะไรประมาณนั้นก็ฟังแล้วน่าอ่านดีเหมือนกัน
    • เรื่องที่คนชอบหยิบยกมาเขียนเรียงความกันจนเฝือ ก็คือเรื่องการแข่งกีฬา การออกค่าย ไปจนถึงย่ายายที่ตายเป็นต้น จริงอยู่ว่าถ้าเขียนดีๆ ก็คะแนนฉิว แต่ถามจริงว่าเรื่องแนวแข่งบอลนัดสำคัญแพ้ เลยไปฮึดฝึกมาใหม่ แล้วแก้มือเอาชนะได้ในที่สุดน่ะ คุณเคยอ่านผ่านตามาแล้วกี่รอบ
  4. ไอ้การยัดเรื่องทั้งชีวิตของคุณตั้งแต่เกิดยันอายุ 14 ลง 5 หน้ากระดาษ แถมให้ออกมาเป็นเรียงความที่ดีด้วยนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เอาจริงๆ แค่หัวข้ออย่าง "ชีวิตม.6" ก็ยังถือว่ากว้างไปมากนะ ทางที่ดีเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นภายในวันเดียวก็พอ บวกลบอย่างมากก็ไม่เกิน 3 วันเอ้า
    • ถ้าอยากเล่าเรื่องตอนแตกหักกับแฟนเก่า ก็เริ่มตรงเหตุการณ์ที่ทำให้เลิกกันเลย ไม่ต้องย้อนไปถึงสมัยจีบกันใหม่ๆ เปิดเรื่องมาก็ควรจะจับคนอ่านให้อยู่หมัดเลย
  5. เขียนให้เฉพาะเจาะจงมากที่สุด ถ้าอยากให้เรียงความจากชีวิตจริงของคุณออกมาดีๆ ต้องอัดรายละเอียดที่คมชัดทั้งภาพและสัมผัส
    • ตอนกำลังรวบรวมความคิด ให้ไล่รายละเอียดของสิ่งที่คุณจำได้เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นออกมาเป็น "ลิสต์ความจำ" อย่างอากาศวันนั้นเป็นยังไง? กลิ่นเป็นยังไง? แม่พูดอะไรกับคุณบ้าง?
    • ย่อหน้าแรกที่เปิดเรื่องมานี่แหละที่จะกำหนดอารมณ์ของเรียงความ แทนที่จะเปิดเรื่องด้วยประวัติของคุณแบบทื่อๆ (ประมาณว่าชื่ออะไร เกิดที่ไหน ชอบกินอะไร) ให้ลองหาวิธีนำเสนอแก่นของเรื่องที่คุณจะเล่าและธีมต่างๆ ที่คนอ่านจะได้พบต่อไป
  6. เวลาเขียนเรียงความเรื่องตัวเองไม่ต้องค่อยๆ บิลด์ "อารมณ์ตื่นเต้น" ให้คนอ่าน ถ้าจะเล่าตอนที่คุณเผลอทำงานรวมญาติล่มโดยไม่ตั้งใจแล้วค่อยหายเสียใจทีหลัง เล่าเลยว่าคนเขารู้สึกยังไงกันบ้าง? ทำยังไงคุณถึงเลิกเครียดได้? นั่นแหละเรียงความที่น่าอ่าน
  7. ถ้าเขียนเรียงความเรื่องคุณไปป่วนงานรวมญาติซะเลยเมื่อหลายปีก่อน อย่าเล่าแค่ว่าเผลอทำกับข้าวแม่ไหม้ ต้องรู้ว่าประเด็นของเรื่องคืออะไร? คนอ่านเขาอ่านแล้วจะได้อะไร? อย่างน้อยในทุกๆ หน้าคุณต้องมีจุดที่โยงเข้ากับธีมเรื่อง หรือหัวข้อหลักของเรียงความ
    โฆษณา
วิธีการ 3
วิธีการ 3 ของ 4:

เขียน Cover Letter สมัครงาน (สมัครเรียน)

ดาวน์โหลดบทความ
  1. [9] ถ้าต้องเขียน cover letter ไปสมัครงาน ฝึกงาน หรือสมัครเรียน และอื่นๆ บางทีก็จะมีหัวข้อหรือคำอธิบายกำหนดมาให้เลยว่าต้องเขียนอะไรบ้าง อันนี้ก็แล้วแต่ว่าคุณสมัครไปทำอะไร บางทีอาจจะต้องอธิบายว่าตัวเองเหมาะกับงานนั้นแค่ไหน จบอะไรมา มีความสามารถอะไร หรือรายละเอียดอื่นๆ หัวข้อที่พบบ่อยก็คือ
    • อธิบายคุณสมบัติของคุณคร่าวๆ แต่ให้เน้นความสามารถพิเศษ
    • เล่าเรื่องราวของคุณ
    • ใน cover letter บอกด้วยว่าคุณจบอะไร มีประสบการณ์มากแค่ไหน อย่างไร ถึงได้เหมาะกับงานนี้
    • อธิบายว่าคุณจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำงานที่นี่ ตำแหน่งนี้
  2. ต่างคนต่างสถานการณ์ เพราะฉะนั้นสไตล์การเขียนหรือน้ำเสียงของแต่ละ cover letter ก็จะแตกต่างกันออกไปด้วย ถ้าใช้สมัครเข้ามหาวิทยาลัย ควรเขียนให้เป็นทางการ ออกแนววิชาการจะดีกว่า แต่ถ้าจะสมัครเป็นบล็อกเกอร์ให้กับบริษัทไอทีที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่ แล้วเขาให้หัวข้อมาว่า "3 เรื่องเจ๋งๆ ของคุณคืออะไร ชี้แจงแถลงไขหน่อย!" เวลาเขียนก็คงไม่ต้องเป๊ะหรือทางการมากจนผิดคอนเซ็ปต์ไป[10]
    • ถ้าไม่แน่ใจ เอาสั้นกระชับและจริงจังไว้ก่อน ถ้าไม่แน่ใจว่าเรื่องเล่าเรียกเสียงฮาอย่างตอนไปงานสละโสดของเพื่อนจะเวิร์คไหมใน cover letter ก็อย่าใส่ไปเลยจะดีกว่า
  3. อ่านย่อหน้าแรกแล้วต้องรู้เลยว่าเขียนเพื่ออะไร. 2 ประโยคแรกนี่แหละต้องอธิบายจุดประสงค์ของ cover letter ฉบับนั้นไว้อย่างชัดเจนว่าคุณจะสมัครทำอะไร ถ้าคนที่รับผิดชอบเขาอ่านแล้วไม่เข้าใจว่าคุณจะสื่ออะไร เป็นไปได้มากว่าใบสมัครของคุณจะตรงดิ่งลงถังในทันที
    • "ดิฉันมีความประสงค์จะสมัครเป็น...ของบริษัท...จำกัด ตามรายละเอียดที่ได้ลงประกาศไว้ในเว็บไซต์ เนื่องจากดิฉันจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะ...สาขา...และมีประสบการณ์การทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลา...ซึ่งครบถ้วนตามคุณสมบัติที่กล่าวถึงในประกาศของบริษัท"
    • อาจจะฟังดูไม่น่าเชื่อ หรือไม่ใช่อย่างที่คิด แต่บอกเลยว่าไม่จำเป็นต้องใส่ชื่อของคุณไว้ในเนื้อความของจดหมายด้วย อย่าง "ผมชื่อสมชาย กอขอคอ มีความประสงค์จะสมัคร...." เพราะปกติเราก็ต้องลงชื่อไว้ท้ายจดหมายอยู่แล้ว หรือที่ด้านบนของ cover letter ก็ต้องมี เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องบอกชื่อของตัวเองไปในเนื้อหาอีกรอบหรอก
  4. วางโครงของ cover letter ให้เห็นการกระทำและผลที่ตามมา. cover letter ต้องอธิบายให้ว่าที่นายจ้างหรือว่าที่อาจารย์ของคุณเข้าใจ ว่าทำไมคุณถึงเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนั้น หรือทำไมต้องรับคุณเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยหรือสาขานั้นที่คุณสมัคร ทำได้โดยแบไต๋ไปเลยว่าคุณมีดีอะไรบ้าง และสิ่งที่คุณมีจะทำให้พอใจและได้ประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่ายได้ยังไง ต้องแน่ใจว่า cover letter ของคุณจะลงรายละเอียดต่อไปนี้ไว้ชัดเจน[11]
    • คุณเป็นใคร มาจากไหน
    • คุณมีเป้าหมายอะไร มองเห็นตัวเองในอนาคตอย่างไร
    • แล้วถ้าคุณได้รับโอกาสนี้ จะเอื้อประโยชน์กับเป้าหมายที่คุณวางไว้อย่างไร
  5. ลงรายละเอียดเรื่องความสามารถพิเศษและทักษะต่างๆ ให้ชัดเจน. อะไรทำให้คุณเป็นคนที่ใช่สำหรับงานนี้หรือตำแหน่งนี้? คุณมีประสบการณ์มากน้อยแค่ไหน มีทักษะอะไร เคยฝึกฝนหรือเรียนอะไรมา และมีความสามารถพิเศษอะไรบ้าง?
    • ลงลึกให้มากที่สุด[12] ก็ไม่มีใครว่าหรอก ถ้าจะเขียนว่า "มีความเป็นผู้นำในทุกๆ ด้านและสนใจใฝ่รู้ในทุกๆ เรื่อง" แต่จะดีกว่าเยอะ ถ้าคุณยกตัวอย่างหรือระบุเหตุการณ์ที่พร้อมสนับสนุนความเป็นคุณอย่างที่อ้างมาด้วย เอาแบบที่คาดไม่ถึงได้ยิ่งดี
    • แต่ต้องเน้นเฉพาะทักษะหรือความสามารถที่เหมาะสำหรับตำแหน่งที่คุณจะสมัครนะ กิจกรรมนอกเวลาสมัยมหาวิทยาลัย เหตุการณ์ที่คุณเคยได้เป็นคนคุมทีม และประสบการณ์อื่นๆ ที่บ่งบอกถึงความสำเร็จอันโดดเด่น เหล่านี้อาจเป็นความทรงจำสุดรักของคุณที่พลอยทำให้คนอ่านเขาประทับใจไปด้วย แต่ถ้าเลือกมาผิดที่ผิดเวลา ก็อาจส่งผลตรงกันข้าม เพราะงั้นถ้าคิดจะใส่อะไรเข้ามาใน cover letter ต้องแน่ใจซะก่อนว่าเกี่ยวข้องกัน
  6. คุณมีแผนการในอนาคตอย่างไร? ทั้งกรรมการพิจารณารับเข้าศึกษาและว่าที่นายจ้างของคุณต่างก็มองหาคนที่มุ่งมั่นฝันไกลและมีความคิดริเริ่มด้วยกันทั้งนั้น บอกไปเลยว่าคุณต้องการอะไรในชีวิต และโอกาสนี้ที่คุณสมัครมาจะทำให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้นได้ยังไง
    • เจาะลึกให้มากที่สุด ถ้าเขียน cover letter เพื่อสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ใครๆ ก็รู้ว่าคุณต้องเรียนที่นี่ถึงจะเป็นหมออย่างที่ฝันได้ แต่ทำไมคุณถึงอยากเรียนเพื่อเป็นหมอล่ะ? ทำไมถึงต้องเป็นมหาวิทยาลัยนี้? อะไรคือวิชาสำคัญที่คุณต้องเรียนถึงจะทำตามเป้าหมายที่วางไว้ได้?
  7. คุณมีอะไรที่ผู้สมัครคนอื่นไม่มี? ถ้าคุณได้เข้ามาศึกษาแล้ว คุณจะทำประโยชน์อะไรให้มหาวิทยาลัยได้บ้าง? ถ้าได้ทำงานที่บริษัทนี้คุณจะได้ส่งผลดียังไงกับคุณ? คนที่มีหน้าที่พิจารณาเขาต้องสนใจอยู่แล้วว่าทั้งเขาและคุณจะได้ประโยชน์อะไรในครั้งน
    • อย่าเพ้อเจ้อหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรใครใน cover letter เช่น ร่ายยาวเรื่องสินค้าไหนยอดตกอย่างหนักในไตรมาสงบการเงินที่ผ่านมา จากนั้นก็อวดอ้างว่าถ้าทำแบบนั้นแบบนี้แล้วจะแก้ไขได้ ระวังจะไปปีนเกลียวใครเข้า แถมถ้าได้งานเข้าจริงๆ แล้วทำไม่ได้ตามที่พูดนี่ก็น่าดู
  8. [13] ถึงจะต้องไล่เรียงทักษะเจ๋งๆ ของคุณที่เกี่ยวข้องกับงานที่จะสมัครออกมา แต่ใน cover letter ไม่ควรลงรายละเอียดเรื่องว่าเรียนที่ไหน ปีอะไร ยังไงเหมือนกับที่ต้องเขียนใน resume เพราะตามปกติก็ต้องใช้ทั้ง 2 อย่างอยู่แล้ว อย่าให้ 2 เอกสารข้อมูลซ้ำซ้อนกันดีกว่า
    • ถึงคุณจะภูมิใจและคนอ่านน่าจะประทับใจ แต่อย่าใส่ GPA หรืออันดับอะไรที่คุณได้ไว้ใน cover letter จะดีกว่า ให้ไปเน้นหนักใน resume แทน แค่อย่าใส่ไว้ทั้ง 2 ที่เหมือนกันเท่านั้นเอง
  9. cover letter ที่ดีควรจะยาวไม่เกิน 1 - 2 หน้า โดยพิมพ์แบบ single-spaced (เว้นวรรคครั้งเดียว) หรืออยู่ที่ประมาณ 300 - 500 คำ[14] บางที่อาจจะขอยาวกว่านี้ แต่ส่วนมากก็ไม่เกิน 700 - 1,000 คำหรอก หายากมากเลย cover letter ที่ยาวกว่านั้นน่ะ
  10. ปกติ cover letter จะเป็น single-spaced และพิมพ์ด้วยฟอนต์ธรรมดาอย่าง Times New Roman หรือ Angsana New นอกจากนี้ก็ให้เขียนคำขึ้นต้นถึงกรรมการที่พิจารณาหรือระบุชื่อตามที่กำหนด และลงท้ายด้วยชื่อและลายเซ็นของคุณ ตามด้วยข้อมูลติดต่อที่เขียนไว้แล้วก่อนเริ่มจดหมาย
    • ชื่อ-นามสกุลของคุณ
    • ที่อยู่ติดต่อ
    • อีเมล
    • เบอร์โทรศัพท์ (บางที่อาจให้ใส่เบอร์แฟกซ์หรือเบอร์มือถือด้วย)
    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ
    Lucy Yeh

    Lucy Yeh

    โค้ชอาชีพและชีวิต
    ลูซี่ เย่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ผู้จัดหางานและไลฟ์โค้ชที่มีใบรับรองพร้อมประสบการณ์กว่า 20 ปี เธอเคยผ่านการฝึกอบรมด้านการโค้ชชีวิตและการลดความเครียดโดยใช้สติจาก InsightLA ลูซี่ทำงานร่วมกับมืออาชีพทุกระดับเพื่อพัฒนาคุณภาพหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ในที่ทำงาน การโปรโมทตนเอง และการสร้างสมดุลของชีวิต
    Lucy Yeh
    Lucy Yeh
    โค้ชอาชีพและชีวิต

    เคล็ดลับจากผู้เชี่ยวชาญ: ประหยัดเวลาและพลังงานโดยการสร้างฟอร์แมตทั่วไปที่คุณสามารถใช้กับการสมัครงานหลายๆ แห่งโดยการเน้นเนื้อหาเฉพาะส่วนสำหรับแต่ละงาน เริ่มด้วยประโยคแนะนำตัวทั่วไป แล้วอีกหนึ่งหรือสองส่วนถัดมาว่าด้วย resume กับความถนัดที่มีส่วนสัมพันธ์กับตำแหน่งงานนั้น แล้วค่อยจบลงด้วยประโยคปิดท้ายและคำขอบคุณ

    โฆษณา
วิธีการ 4
วิธีการ 4 ของ 4:

เขียนประวัติย่อของตัวเอง

ดาวน์โหลดบทความ
  1. [15] ประวัติย่อของคุณก็เหมือนคำโฆษณาสั้นๆ มักพบได้ตามประวัติพนักงาน หรือใบปลิว และเอกสารรูปแบบอื่นๆ มีหลายกรณีที่คุณจะถูกขอประวัติย่อส่วนตัว ปกติแล้วก็ตรงตัวคือต้องสั้นกระชับ และบางทีเวลาเขียนเองจะรู้สึกแปลกๆ ชอบกล
    • ทำเป็นเขียนเรื่องของคนอื่น บอกชื่อ-นามสกุลซะ แล้วเริ่มอธิบายว่าเขา (หรือก็คือคุณ) เป็นคนยังไง ประมาณว่าอธิบายตัวละครหรือบุคลิกเพื่อนของคุณ "สมชายดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารของบริษัท...จำกัด"
  2. อย่าลืมระบุหน้าที่สำคัญๆ หรือความเชี่ยวชาญพิเศษ แล้วแต่ว่าจะเขียนประวัติย่อนั้นไปทำอะไร บอกไปซะว่าคุณทำอะไร และคนเขารู้จักคุณเพราะอะไร[16]
    • ถ้าทำนู่นทำนี่เยอะแยะ ก็ใส่ไปให้หมด ไม่ต้องเขินเวลาจะเขียนว่า "นักแสดง, นักดนตรี, แม่ลูกสอง, นักพูดสร้างแรงบันดาลใจ, และนักปีนเขาอาชีพ" ถ้ามันไม่หลุดจุดประสงค์น่ะนะ
  3. ระบุความรับผิดชอบหรือความสำเร็จของคุณแบบย่อๆ. ถ้าทำดีทำเด่น ได้รางวัลตลอด ก็ถึงเวลาโม้แล้วแบบไม่มีใครว่า แต่ขอให้เน้นหนักที่เรื่องเร็วๆ นี้นะ
    • จะใส่ปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่ได้รับไปด้วยก็ได้ เอาที่เกี่ยวข้องกับจุดประสงค์ของชีวประวัติ อย่างถ้าเคยไปฝึกอบรมอะไรที่ไหนเป็นพิเศษ ก็รวมเข้าไปด้วยเลย
  4. ประวัติย่อไม่จำเป็นต้องเคร่งขรึมแห้งแล้งเสมอไป หลายคนก็เลือกปิดท้ายด้วยเรื่องส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเพิ่มอรรถรส[17] อย่างพูดถึงแมวที่เลี้ยง หรืองานอดิเรกแปลกๆ ก็ได้
    • "สมชายดำรงตำแหน่งรองประธานบริหารของบริษัท...จำกัด รับหน้าที่ดูแลฝ่ายการตลาดและฝ่ายจัดซื้อต่างประเทศ เขาจบหลักสูตร MBA ได้รับเกียรตินิยมจาก NIDA ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่บางโคล่กับแมวชื่อน้องสิงโต"
    • อย่าออกทะเล มันก็ฮาดีอยู่หรอก ถ้าจะเริ่มต้นว่า "สมชายรักการล่องแก่งเป็นชีวิตจิตใจ แต่เกลียดขนมไข่เข้าเส้น เขานี่แหละเจ้านายตัวอย่าง" แถมอาจจะเข้าท่าถ้าใช้ให้ถูกจุดประสงค์ แต่ระวังอย่าใส่ข้อมูลแปลกๆ ที่ไม่เข้าเรื่องไป อย่างเรื่องที่ว่าคุณเมาปลิ้นอะไรทำนองนั้น เก็บไว้เล่านอกรอบหลังเลิกงานจะดีกว่า
  5. จริงๆ แล้วต้องบอกว่างานเขียนประเภทนี้มักยาวไม่กี่ประโยคเท่านั้นแหละ เพราะข้อมูลนี้อาจจะไปโผล่ที่หน้าคำนำหรือหน้ารวมประวัติพนักงาน คุณคงไม่อยากทำตัวเด่น เล่นซะคนเดียวครึ่งหน้า ในขณะที่คนอื่นเขาเขียนกันพอหอมปากหอมคอใช่ไหม
    • นักเขียนชาวอเมริกันอย่าง Stephen King เจ้าพ่อนิยายสยองขวัญ หนึ่งในนักเขียนสมัยใหม่ที่ดังเป็นพลุแตก เขาเคยเขียนประวัติย่อของตัวเองสั้นขนาดที่ว่ามีแค่ชื่อคนในครอบครัว บ้านเกิด และสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ไอ้พวกชื่นชมตัวเองออกหน้าออกตาน่ะอย่าเขียนเลย
    โฆษณา

เคล็ดลับ

  • ถ้าเขียนถึงตัวเองนี่มันยากจัง ให้ลองค้นตัวอย่างประวัติของคนอื่นดูในเน็ต จะได้พอเห็นแนวทางและเกิดแรงบันดาลใจ
โฆษณา

บทความวิกิฮาวอื่น ๆ ที่่เกี่ยวข้อง

เขียนสรุปบทความเขียนสรุปบทความ
เขียนเรียงความเขียนเรียงความ
แนะนำตัวเองทางอีเมลแนะนำตัวเองทางอีเมล
เขียนให้เร็วขึ้นเขียนให้เร็วขึ้น
เขียนบทความเขียนบทความ
เขียนย่อหน้าเขียนย่อหน้า
ฝึกทักษะการเขียนฝึกทักษะการเขียน
เขียนเรื่องเล่าส่วนตัวเขียนเรื่องเล่าส่วนตัว
เขียนประวัติส่วนตัวอย่างย่อเขียนประวัติส่วนตัวอย่างย่อ
วิธีการเขียนเนื้อหาการพูดแบบบรรยายวิธีการเขียนเนื้อหาการพูดแบบบรรยาย
เขียนมุกตลกที่ดีเขียนมุกตลกที่ดี
เขียนประวัติส่วนตัวเขียนประวัติส่วนตัว
บรรยายฉากในการเขียนเรื่องราวบรรยายฉากในการเขียนเรื่องราว
สรุปบทความจากวารสารสรุปบทความจากวารสาร
โฆษณา

เกี่ยวกับวิกิฮาวนี้

วิกิฮาวเป็น "wiki" ซึ่งหมายความว่าบทความหลายๆ บทความของเรานั้นเป็นการร่วมมือกันเขียนของผู้เขียนหลายคน ในการเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้คน 54 คน ซึ่งบางคนไม่ขอเปิดเผยตัว ได้ร่วมกันเขียนและปรับปรุงเนื้อหาของบทความอย่างต่อเนื่อง บทความนี้ถูกเข้าชม 272,825 ครั้ง
หมวดหมู่: พัฒนางานเขียน
มีการเข้าถึงหน้านี้ 272,825 ครั้ง

บทความนี้เป็นประโยชน์กับคุณไหม

โฆษณา